แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
มีใครเคยโดนทักเรื่องรูปร่างหน้าตาของเรากันบ้างมั้ยคะ? เช่น “อ้วนจังต้องกลิ้งแทนเดินแล้ว” “ถ้าปิดไฟมองไม่เห็นเธอแน่ ผิวคล้ำมาก” จนเราเริ่มเอ๊ะกับตัวเองว่า “เราดีพอแล้วหรือยัง” (self-doubt) ยิ่งถูกทักมากเท่าไร ความมั่นใจค่อย ๆลดลงไปทุกที พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า “Body shaming-BS”
“Body shaming-BS” คือ การที่คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา การแต่งตัว บุคลิกท่าทาง และรูปลักษณ์ที่แสดงออกภายนอกของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูดตรงๆ พูดเปรียบเทียบ หรือพูดล้อเล่น คำพูดเหล่านี้ส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของคนที่ถูกต่อว่าล้อเลียนอย่างมาก (emotional trauma) เป็นรูปแบบหนึ่งของการกลั่นแกล้งกัน (bullying) ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง (low-self esteem) นำไปสู่การป่วยเป็นโรคด้านจิตเวชได้ เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) โรควิตกกังวลเรื่องรูปร่างหน้าตา (Body Dysmorphic Disorder-BDD) โรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder) ยิ่งถูก BS ตั้งแต่อายุน้อยเท่าไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยรุ่นที่ต้องมีพัฒนาสร้างความเป็นตัวตน (self-identity) จะส่งผลเสียอย่างมาก มีการศึกษาวิจัยจากทั่วโลกพบความชุกของเรื่อง BS ร้อยละ 25-35 รายงานที่พบความชุกมากสุด คือ ร้อยละ 45
ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนย่อมอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นในสังคมที่อาศัยอยู่ มาตรฐาน “รูปร่างหน้าตาที่ดี” (beauty standards) ได้รับอิทธิพลจากสื่อที่ยัดเยียดค่านิยมต่าง ๆให้ เช่น “สวย=ขาว หมวย ผอม” “คนอ้วน=น่าเกลียด” ผ่านโซเชียลมีเดียหรือสื่อช่องทางต่างๆ จนคนในสังคมมีความเชื่อแบบเดียวกัน นอกจากจะกดดันตัวเองให้เป็นตามนั้น ยังกดดันคนอื่นอีกด้วย แม้จะมีกลุ่มคนที่พยายามสื่อสารว่าทุกคนมีความงามในแบบฉบับของตนเอง ให้ยอมรับนับถือในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่สุดท้ายยังไม่สามารถสู้กับอิทธิพลที่มาจากสื่อและคนส่วนใหญ่ได้ คนที่ถูก BS ไม่ใช่แค่จะเสียสุขภาพจิต แต่ยังส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น บางคนพยายามที่จะอดข้าวลดน้ำหนักจนขาดสารอาหาร (malnutrition) เข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการดมยาหรือผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการผ่าตัดนั้น เพื่อให้สวยในแบบที่สังคมต้องการ
• ตัวอย่างโรคที่เกี่ยวข้องกับ Body shaming
โรควิตกกังวลเรื่องรูปร่างหน้าตา (Body Dysmorphic Disorder-BDD)
- เป็นโรคที่ทำให้คนไข้กังวลเกี่ยวกับอวัยวะบางส่วน หมกมุ่น คิดวนเวียน ว่าอวัยวะส่วนนั้นมีความผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข หลังจากทำไปแล้วจะรู้สึกดีขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ไม่นานจะกลับมาคิดใหม่อยากทำใหม่ เช่น คิดว่า “ต้องมีดั้งโด่งถึงจะสวย” มองกระจกทีไรเห็นหน้าตัวเองไร้ดั้ง รู้สึกแย่กับใบหน้าตัวเอง ส่องกระจกซ้ำไปมา เสียความมั่นใจ กังวล ทำให้ต้องไปผ่าตัดเสริมจมูกหลายครั้ง จนใบหน้าผิดรูปไป บางคนที่กังวลมากจะไม่กล้าออกไปเจอคนอื่นเพราะคิดว่าจะถูกนินทาตำหนิต่อว่า
โรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa-AN)
- คนไข้จะหมกมุ่นกังวล ทุกข์ทรมานทางใจ คิดว่าตัวเองน้ำหนักเกินหรือมีบางส่วนของร่างกายที่ใหญ่เกินไปจนน่าเกลียด เช่น ต้นแขนต้นขาใหญ่ ทำให้ต้องพยายามจำกัดอาหาร ออกกำลังกาย หรือหาวิธีที่ทำให้น้ำหนักลดลงหรือมีรูปร่างที่มองในกระจกแล้วตัวเองพึงพอใจได้ โดยไม่ได้คิดถึงผลเสียที่จะตามมา
- นอกจากเกิดผลเสียทางด้านจิตใจแล้วยังมีผลเสียกับสุขภาพ เช่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมากจนหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง ประจำเดือนไม่มา ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย (malnutrition) บางคนถึงกับเสียชีวิต
• รับมืออย่างไรเมื่อเราถูก Body shaming ตั้งสติคิดหากเราถูกโจมตีด้วยคำพูด BS บ่อยครั้งเข้า เราอาจเริ่มเชื่อตามสิ่งที่คนอื่นพูด จิตตก ซึ่งเรื่อง BS เป็นเรื่องที่เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา คาดเดายาก เพราะยังมีคนจำนวนมากไม่ตระหนักถึงผลเสีย BS ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือจึงเป็น
1. ทบทวนหาข้อดีของตัวเอง นำคำ BS ที่ถูกแซะ กลับมาคิดไตร่ตรองว่าเราเป็นอย่างที่เขาพูดจริงหรือไม่ แต่ละคนมีคำจำกัดความของความงามไม่เหมือนกัน สำคัญที่สุดคือความพอใจในตัวเราเอง ไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง หากเรารักและยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ (Self-love/self-acceptance) มีสุขภาพที่ดี และรูปร่างหน้าตาของเราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนกับตัวเองหรือคนอื่น เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว หากยังไม่มั่นใจให้ลองคุยกับคนที่มองโลกตามความเป็นจริงเชื่อถือได้ พร้อมที่จะให้กำลังใจและคำแนะนำที่ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น เช่น ให้เขาบอกคุณสมบัติข้อดีของเรา เพื่อให้เราเห็นคุณค่าของตัวเอง
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่เป็นพิษ (toxic people) บางคนมีทัศนคติเป็นลบกับทุกเรื่อง และพร้อมที่จะทิ่มแทงให้คนอื่นต้องเจ็บปวด มีความสุขที่เห็นคนอื่นเป็นทุกข์ เข้าใกล้ทีไรทำให้เราเสีย self-esteem เราไม่สามารถไปเปลี่ยนเขาได้ สิ่งที่เราทำได้ คือ การเลี่ยง เพื่อไม่ให้ตัวเราเองต้องเจ็บปวดกับพิษที่เขาสาดใส่ ติดต่อกันเท่าที่จำเป็น หากถูกเขา BS จนเราทนไม่ได้ เรามีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง (assertive) ด้วยการบอกว่าเราไม่ชอบและสิ่งที่ต้องการให้เขาทำ เช่น “เราไม่ชอบที่เธอล้อว่าเราอ้วน ขอให้เธอไม่พูดเรื่องนี้อีก”
3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากเราไม่อยากถูก BS เราเองต้องไม่ทำแบบนั้นกับคนอื่นเช่นเดียวกัน หัวข้อที่เราสามารถนำมาคุยกันมีตั้งหลายเรื่อง ไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องรูปร่างหน้าตาก็ได้
4. เข้าหากลุ่มที่ให้การช่วยเหลือเรื่อง BS ที่ต่างประเทศมีองค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนที่ถูก BS โดยตรง เช่น หากมีคนมาคอมเม้นต์ไม่ดีเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเราทาง IG เราสามารถแจ้ง Media Watchdog program ได้ เขียนบล็อคเกี่ยวกับความภาคภูมิใจใจรูปร่างหน้าตาและสิ่งที่เรามี ติด #@Proud2BmeUS เพื่อเข้าร่วมกลุ่มที่ให้กำลังใจกัน
• คุยอย่างไรไม่ให้เราไป Body shaming คนอื่น ในชีวิตคนเรามีตั้งหลายเรื่องที่สามารถนำมาคุยเปิดบทสนทนาได้ (small talk) โดยที่ไม่ได้ไป BS คนอื่น ตัวอย่างเช่น
- คุยเรื่องข่าวที่กำลังเป็นกระแส
- ถามไถ่ว่าสบายดีมั้ย ช่วงนี้ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
- คุยเรื่องที่อีกฝ่ายชอบ เช่น การ์ตูน หนัง งานอดิเรก
โดยการคุยกันเราต้องมีความระมัดระวัง (self-awareness) เรื่องของคำพูด เลี่ยงการพูดถึงรูปร่างหน้าตา รูปลักษณ์ภายนอกของอีกฝ่าย เช่น อ้วน ผอม โทรม หน้ามีสิว ผิวคล้ำ หลักในการเลือกคำพูด คือ ใช้หลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดในมุมกลับกันว่าถ้าเราโดนทักแบบนี้เราจะรู้สึกอย่างไร
สำหรับบางคนหรือบางสังคมการพูดด้วยวิธี Body shaming อาจมองเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือเรื่องตลก แต่จริงๆแล้ว BS เป็นการทำร้ายกันด้วยคำพูดหรือท่าทางที่ไปสร้างบาดแผลทางใจให้อีกฝ่าย หากแผลลึกจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ ดังนั้นก่อนที่เราจะพูดอะไรกับใครให้นึกทบทวนให้ดี เพื่อไม่ให้มีการทำร้ายจิตใจกันและเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดี